วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระธาตุขามแก่น


พระธาตุขามแก่น ตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นปูชนียสถานของจังหวัดขอนแก่น บ้านขามเคยเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเวลาประมาณ 2000 ปี ตั้งแต่ พ.ศ 500 ต่อมาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ชื่อ เพี้ยเมืองแพน (ปัจจุบันคือ จังหวัดร้อยเอ็ด) ได้มาตั้งเมืองขามแก่นที่ บ้านขาม พุทธศตวรรษที่ 5 พระยาหลังเขียว หรือโมริย กษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ (เมืองโมรีย์อยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา) สร้างพระธาตุขามแก่น ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม



ประเพณี  งานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 การสักการะ ใช้ธูป เทียน ดอกไม้ ขันแปดเก้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือน พระธาตุขามแก่น พระธาตุขามแก่นเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองขอนแก่นและเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจติภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง อยู่ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 30 กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนสายขอนแก่น -กาฬสินธุ์ เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ 12 บ้านโคกสี เป็นถนนราดยางตลอด มีป้ายบอกทางไปพระธาตุ ขามแก่นเป็นระยะๆ จนถึงองค์พระธาตุ พระธาตุขามแก่นมีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสามเหลี่ยมทรงอีสาน องค์พระธาตุสูง 19 เมตร

          ฐานด้านทิศตะวันออกและตะวันตกกว้าง 10.90 เมตรเท่ากัน รอบองค์พระธาตุมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทั้ง 4 ด้าน สูง 1.20 เมตร กำแพงแก้วห่างจากองค์พระธาตุโดยเฉลี่ย 2.30 เมตร ทุกด้านมีประตูเข้าออก ด้านทิศเหนือ 2 ช่อง และทิศใต้ 2 ช่อง กว้างช่องละ 1 เมตร ตำนานพระธาตุขามแก่น ประมาณ พ.ศ. 3 พระมหากัสสปได้นำเอาพระอุรังคธาตุของพระ พุทธเจ้ามาประดิษฐานที่ภูกำพร้าและได้สร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น พระยาหลังเขียวโมรียกษตริย์ทราบ ข่าวดังนั้น เกิดศรัทธาใคร่นำพระอังคารมาบรรจุไว้ด้วยกัน จึงได้เดินทางมาพร้อมกับข้าราชบริพาร และพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์
          ในระหว่างเดินทางได้ผ่านดอนมะขามแห่งหนึ่งเป็นเวลาค่ำพอดี จึงได้พา กันพักแรมในสถานที่นี้ ในบริเวณที่พักมีต้นมะขามตายต้นใหญ่ต้นหนึ่ง มีแต่แก่นข้างใน จึงได้เอาพระ อังคารเก็บไว้ในต้นมะขามต้นนี้ ครั้งเมื่อเดินทางต่อไปยังภูกำพร้า ปรากฏว่าองค์พระธาตุพนมสร้างเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว จึงต้องเดินทางกลับถิ่นเดิม เมื่อเดินทางมาถึงดอนมะขามบริเวณที่พักที่เดิมก็พบว่าต้นมะขามที่ตายเหลือแต่แก่นต้นนั้น กลับยืนต้นแตกกิ่งก้านสาขา มีใบเขียวชะอุ่ม และดูงามตาเป็นอัศจรรย์ พระยาหลังเขียวและพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ จึงตกลงใจสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม โดยบรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทอง โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์เข้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ และก่อสร้างบ้านเรือน ณ บริเวณใกล้ๆพระธาตุ
          ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็ได้จัดสร้างวัดเคียงคู่พระธาตุ เมื่อพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ประชาชนได้นำพระธาตุของพระอรหันต์บรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็กซึ่งอยู่ใกล้พระธาตุขามแก่นเรียกว่าครูบาทั้งเก้า เจ้ามหาธาตุ มาจนทุกวันนี้ทุกวันเพ็ญ เดือน 6 จะมีงานฉลององค์พระธาตุขามแก่นเป็นงานประจำปี


วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระมหาธาตุแก่นนคร


วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร) ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงเมืองเก่าซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห


ประวัติวัดหนองแวง พระอารามหลวง
วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2332 พร้อมกับวัดกลาง และวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) พ.ศ.2354 ท้าวจามมุตร ท้ายเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม (บ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันนตั้งอยู่ เลขที่ 593 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2442 โดยพระยานครศรีบริรักษ์(อู๋) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2527 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร มีเนื้อที่ดินที่ตั้งวัด 26 ไร่ 65 ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เป็นโฉนด 713 เลขที่ 28 หน้าสำรวจ 794 เล่มที่ 8 หน้า 13
ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบ เป็นที่ราบเรียบ เป็นลักษณะ 6 เหลี่ยม มีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด
เคยได้รับรางวัล เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ปี พ.ศ.2524 เป็นวัดพัฒนาดีเด่น ปี พ.ศ. 2526 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง ปี พ.ศ. 2527

ภายในองค์พระธาตุมีอยู่ 9 ชั้น คือ
ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุม มีพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกตรงกลางและพระประธาน 3 องค์อยู่ตรงกลาง บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น โดยเฉพาะบานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติและมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น
ชั้นที่ 2 เป็นหอพัก บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องสังศิลป์ชัย ตามผนังด้านบนมีภาพเขียนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคะลำ หรือข้อห้ามต่าง ๆ ของชาวอีสาน
ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติ บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม
ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่าบานประตูหน้าต่างภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศและตัวพึ่ง-ตัวเสวย
ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดก
ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร
ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันตสาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้
ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนามีพระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น
ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น และสามารถชมทัศนียภาพของตัวเมืองขอนแก่นได้ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกสามารถมองเห็นบึงแก่นนครได้สวยงามมาก



ที่มา   http://www.hotsia.com/khonkaen/pramahatatkaennakron/index.shtml

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง

ข้อมูลทั่วไป

        อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นชื่อเรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของจังหวัดขอนแก่น แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า น้ำพอง-ภูเม็งเพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่นติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง ในเขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ อำเภอมัญจาคีรี และ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 197 ตารางกิโลเมตร หรือ 123,125 ไร่


ลักษณะภูมิประเทศ
                สภาพพื้นที่โดยทั่วไป มีลักษณะสัณฐานเป็นเทือกเขาหินทรายสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง คล้ายกับเทือกเขาทั่วๆ ไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ขนานกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารส่วนหนึ่งของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำชี เป็นต้น แบ่งพื้นที่ได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ในเทือกเขาภูพานคำ ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้อยู่ในเทือกเขาภูเม็ง พื้นที่ด้านทิศตะวันตกมีสภาพลาดชันสลับกับหน้าผาในบางช่วงจรดที่ราบอ่างเก็บน้ำด้านล่าง ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขามีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 600 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
          ฤดูกาลของอุทยานแห่งชาติน้ำพองแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะร้อนจัดในเดือนเมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนจะตกมากช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงทางตอนใต้ของประเทศจีน
จุดชมทิวทัศน์หินช้างสี
  กลุ่มหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนสันเขาป่าโสกแต้เหนือที่ทำการอุทยานแห่งชาติขึ้นไป เป็นจุดชมวิวยามเช้าเย็นที่พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ที่สวยงามที่สุดของน้ำพอง เหตุที่ชื่อหินช้างสีเพราะ ครั้งอดีตมีช้างป่ามาใช้ลำตัวสีกับก้อนหินขนาดใหญ่และทิ้งร่องรอยของดินติดไว้ ด้านบนของจุดชมวิวหินช้างสีเป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ จุดสูงสุดมีก้อนหินสัณฐานคล้ายหัวกระโหลก ตั้งโดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ ด้านบนลานหินนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ ทั้งทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ที่ถูกปูพรมด้วยผืนป่าอันเขียวขจี หรือตัวเมืองขอนแก่นที่อยู่ไกลลิบๆ ออกไป ส่วนด้านทิศตะวันตกจะพบกับทัศนียภาพของธรรมชาติอันงดงามและกว้างไกลของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จนสุดสายตาที่เทือกเขาภูเวียงและภูเก้า ยามเช้าในฤดูหนาวที่สายหมอกล่องลอยไล่เลี่ยพื้นน้ำและราวป่า คล้ายกับลูกคลื่นในท้องทะเล ส่งผลให้จุดชมวิวหินช้างสีมีเสน่ห์และน่าหลงไหลสำหรับผู้ที่ได้พบเห็นมากยิ่งขึ้น บริเวณนี้จึงเหมาะสำหรับการตั้งแค็มป์ค้างแรมของผู้ที่ชื่นชอบและต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้บริเวณหินช้างสียังพบภาพเขียนเลขาคณิตอันเป็นร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย

ที่มา    http://www.moohin.com/trips/khonkaen/hinchangse/

นครขอนแก่น


จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ (ด้านประชากร) แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รองจากจังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานีตามลำดับ ตั้งอยู่ในจุดที่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก) ตัดผ่าน ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไปเข้าภาคเหนือที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเดินทางเข้าสู่ประเทศลาวทั้งทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของลาว อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับจังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ ทิศใต้ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์



ที่มาของชื่อขอนแก่น
เหตุที่เมืองนี้มีนามว่า เมืองขอนแก่นนั้นได้มีตำนานแต่โบราณเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่เพี้ยเมืองแพนจะอพยพไพร่พลมาตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นนั้น ปรากฏว่าบ้านขาม หรือตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพองปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตแขวงร่วมการปกครองกับบ้านชีโล้น มีตอมะขามขนาดใหญ่ที่ตายไปหลายปีแล้ว กลับมีใบงอกงามเกิดขึ้นใหม่อีก และหากผู้ใดไปกระทำมิดีมิร้ายหรือดูถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพยำเกรง ก็จะมีอันเป็นไปในทันทีทันใด เป็นที่น่าประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก
ดังนั้น บรรดาชาวบ้านชาวเมืองในแถบถิ่นนั้นจึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้เสีย เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนทั่วไป พร้อมกับได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 บทเข้าไว้ในเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นด้วย ซึ่งเรียกว่า พระเจ้า 9 พระองค์ แต่เจดีย์ที่สร้างในครั้งแรกเป็นรูปปรางค์ หลังจากได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเจดีย์ และมีนามว่า พระธาตุขามแก่น ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พระเจดีย์ขามแก่นถือว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีงานพิธีบวงสรวง เคารพสักการะกันในวันเพ็ญเดือน 6 ทุกปี
ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์พระธาตุขามแก่นนั้น มีซากโบราณที่ปรักหักพังปรากฏอยู่ โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ราว 15 เส้น หรืออยู่คนละฟากทุ่งของบ้านขาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไปนาน ดังนั้น จึงได้ถือเอานิมิตนี้มาตั้งนามเมืองว่าขามแก่น แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นเมืองขอนแก่น จนกระทั่งทุกวันนี้

ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออักษรไทย                     ขอนแก่น
ชื่ออักษรโรมัน                   Khon Kaen
ผู้ว่าราชการ                       นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ
             (ตั้งแต่ พ.ศ. 2553)
ISO 3166-2                        TH-40
สีประจำกลุ่มจังหวัด          ███ สีเหลือง
ต้นไม้ประจำจังหวัด          ชัยพฤกษ์
ดอกไม้ประจำจังหวัด       ราชพฤกษ์ (คูน)

ข้อมูลสถิติ
พื้นที่                       10,885.991 ตร.กม.(อันดับที่ 15)
ประชากร           1,767,601 คน (อันดับที่ 4)
ความหนาแน่น    161.88 คน/ตร.กม.(อันดับที่ 21)



ศูนย์ราชการ
ที่ตั้ง        ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่น 40000
โทรศัพท์      (+66) 0 4323 6882, 0 4333 0297




 
ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดขอนแก่น


คนขอนแก่น