วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อุทยาานแห่งงชาติภูผาม่าน

ภูผาม่าน (Phu Pha Man)
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ป่าดงลาน ท้องที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ ตำบลห้วยม่วง ตำบลวังสวาบ ตำบลนาฝาย ตำบลภูผาม่าน อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือย ท้องที่ตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 218,750 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 1638' 48 " ถึง 1650' 56" เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 10142 '14" ถึง 1021' 20" ตะวันออก

ทิศเหนือ : จดตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลศรีฐาน ตำบลผานกเค้า ตำบลภูกระดึง อำเภอกระดึง จังหวัดเลย
ทิศใต้ : จดตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ ตำบลห้วยม่วง ตำบลนาฝาย ตำบลภูผาม่าน อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ทิศตะวันออก : จดตำบลภูหาน อำเภอสีชมพู และตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันตก : จดแนวเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์


อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เรียกตามชื่อของภูเขาเทือกหนึ่งทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าผาสูงชันคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มองดูเหมือนกับผ้าม่านผืนใหญ่ อยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือ 218,750 ไร่

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันผลจากการทำสัมปทานป่าไม้ทำให้พื้นป่าและจำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1473/2532 ลงวันที่ 27 กันยายน 2532 มอบหมายให้ นายพนม พงษ์สุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 4 ให้สำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าดงลาน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และพื้นที่ป่าใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารและมีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำและน้ำตก

ทางราชการจึงมีประกาศกฤษฎีกา กำหนดให้รวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เข้ากับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงลาน ท้องที่อำเภอชุมแพ กิ่งอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ในปี พ.ศ.2534 โดยได้พระราชกฤษฏีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงลานในท้องที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ และตำบลห้วยม่วง ตำบลวังสวาบ ตำบลนาฝาย ตำบลภูผาม่าน กิ่งอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือยในท้องที่ตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เนื้อที่โดยประมาณ 218,750 ไร่ หรือ 350 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 72 ของประเทศ

ขนาดพื้นที่
218750.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ภม.1 (ถ้ำผาพวง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ภม.2 (นายางใต้)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ภม.3 (ซำภูทอง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ภม.4 (เขาวง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ภม.5 (ซำผักหนาม)

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติภูผาม่านมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงชันสลับซับซ้อนกันเป็นแนวยาวสลับกับที่ราบลุ่มเชิงเขาสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 200 - 1,000 เมตร เป็นแนวเทือกเขาทอดยาวจากอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเปรียบเสมือนปราการธรรมชาติ กั้นแดนระหว่างอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และอำเภอผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมี "ภูฮี" เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในพื้นที่โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตร ด้านทิศเหนือมีลำห้วยที่สำคัญหลายสายไหลลงสู่ลำน้ำพองทางทิศเหนือ และไหลลงสู่ลำน้ำเชิญทางด้านทิศใต้

บริเวณท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ท้องที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน และติดต่อกันเป็นเทือกเขายาวบางแห่งเป็นที่ราบกว้างและมีน้ำซึมตลอดปี
บริเวณท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงลาน ท้องที่อำเภอชุมแพ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ส่วนมากเป็นภูเขาหินปูน และภูเขาขนาดเล็กติดต่อกันหลายเทือก และมีบริเวณบางแห่งเป็นที่ราบ


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศ ของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่
1)ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย และพายุดีเปรสชั่นจากทะเลจีนใต้ นำพาเอาความชุ่มฉ่ำของฝนมาสู่พื้นที่

2)ฤดูหนาว จะเริ่มจากเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดมาจากประเทศจีน นำพาเอาความหนาวเย็น และ แห้งแล้ง มาสู่พื้นที่

3)ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมโดยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลมนี้จะพัดเอาลมเข้ามาสู่พื้นที่ในฤดูร้อน

- ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 100.722 มิลลิเมตร
- อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปี 27.5 องศาเซลเซียส
- ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยต่อปี 71.8 เปอร์เซ็นต์
- ความยาวของแสงเฉลี่ยต่อปี 7.6 ชั่วโมงต่อวัน
- แรงลมเฉลี่ยต่อปี 4.0 น็อต

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
พืชพรรณประกอบด้วย ชนิดพันธุ์พืชพรรณตามประเภทของ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และสวนป่า มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง เต็ง รัง เหียง พลวง ยาง สัก ไผ่ชนิดต่าง ๆ และพรรณไม้พื้นล่างที่สำคัญได้แก่ ต้นลาน หวาย พืชสมุนไพร และกล้วยไม้ต่างๆ ส่วนสัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา เก้ง หมูป่า ลิง กระต่ายป่า นิ่ม ตะกวด และอื่นๆ ประมาณ 60 ชนิด นกชนิดต่าง ๆประมาณ 50 ชนิด แมลงและผีเสื้อชนิดต่างๆ กว่า 200 ชนิด
การเดินทาง
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ตั้งอยู่ระหว่างทางหลวงหมายเลข 12 และหมายเลข 201 หรือระว่างเส้นรุ้งที่ 1638' 48" ถึง 1650 ' 56" เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 10142' 14 ถึง 1021' 20" ตะวันออก ที่ทำการอุทยานฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 201 บริเวณหลัก กม. ที่ 112-113 ห่างจากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นประมาณ 117 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์หรือ รถยนต์โดยสารประจำทางและรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศสาย กรุงเทพฯ-เลย ตามทางหลวงหมายเลข 201 บริเวณหลัก กม.ที่ 112-113 เลี้ยวซ้ายเข้าตามทางลาดยางประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงทำการอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยรถยนต์หรือ รถยนต์โดยสารประจำทาง และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสายเพชรบูรณ์- ขอนแก่น ตามทางหลวงหมายเลข 12 และเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 201 ถึงหลัก กม. ที่ 112-113 เลี้ยวซ้ายไปตามทางลาดยางประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

ที่มา http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1070

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ประวัติความเป็นมา
ฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยพบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม ในหมวดหินเสาขัว ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา กระดูกชิ้นนี้มีความกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต จากการเปรียบเทียบพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวประมาณ 15 เมตร และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์จำพวกกินพืช การสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2524 โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้พาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย และฝรั่งเศสขึ้นไปสำรวจกระดูกไดโนเสาร์บริเวณยอดห้วยประตูตีหมา อำเภอภูเวียงคณะสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชขนาดใหญ่ รวมทั้งฟันจระเข้ กระดองเต่า ฟันและเกล็ดปลาโบราณ และจากการสำรวจในเวลาต่อมาได้พบกระดูกไดโนเสาร์อีกหลายชนิด ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงจัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับให้การศึกษาแก่เยาวชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น   

แหล่งขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ภายหลังจากการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกแล้ว ต่อมาได้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลรวมถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ รวม 9 หลุม ดังนี้
 หลุมที่ 1 (ประตูตีหมา)
พบกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงรายอยู่ในชั้นหิน
 หลุมที่ 2 (ถ้ำเจีย)
พบกระดูกส่วนคอของไดโนเสาร์ซอโรพอดเรียงต่อกัน จำนวน 6 ชิ้น
 หลุมที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา)
พบกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงหลายชิ้น ของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่
 หลุมที่ 4 (โนนสาวเอ้)
พบฟอสซิลกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 10 ตารางเมตร ประกอบด้วยกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ และที่อยู่ในวัยเยาว์ นอกจากนั้นยังพบเกล็ดปลาเลปิโดเทสและกระดองเต่า
 หลุมที่ 5 (ซำหญ้าคา) หลุมที่ 6 (ดงเค็ง) และหลุมที่ 7 (ภูน้อย)
พบไดโนเสาร์ทั้งขนาดใหญ่และที่ยังเยาว์ และยังพบฟอสซิลของจระเข้ขนาดเล็กอีกด้วย
 หลุมที่ 8 (หินลาดป่าชาด)
พบรอยเท้าไดโนเสาร์ มากกว่า 60 รอยใน 10 แนวทางเดิน เป็นของไดโนเสาร์พวกกินเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งเดินด้วย 2 ขาหลัง
 หลุมที่ 9 (หินลาดยาว)
พบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินเสาขัว และยังพบส่วนของสะโพกด้านซ้ายและกระดูกส่วนหางกว่า 10 ชิ้น ของพวกไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร

 สถานที่ตั้ง
ศูนย์ศึกษาวิจัยแลพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 87 กิโลเมตร การเข้าถึงพื้นที่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 ซึ่งเป็นถนนสายยาว ติดต่อจากจังหวัดตากทางด้านทิศตะวันตกผ่านจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อำเภอหล่มสัก อำเภอชุมแพไปสิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น โดยหากเริ่มจากจังหวัดขอนแก่นให้ใช้เส้นทางไปชุมแพ และแยกขวาเข้าอำเภอภูเวียง ตามเส้นทางหลวงสาย 2038 ซึ่งปากทางเข้าอยู่เลยอำเภอหนองเรือไปเล็กน้อย หรือหากเริ่มต้นจากอำเภอชุมแพให้ไปทางขอนแก่นแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหลวงสาย 2038 เช่นเดียวกัน เมื่อเลยอำเภอภูเวียงเล็กน้อยให้ใช้เส้นทางตรงไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง ศูนย์ศึกษาวิจัยฯ ก่อนถึงอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร การ

ให้บริการ
เปิดให้บริการทุกวัน (ปิดวันจันทร์ ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 8.30-17.00 น. โทร. (043) 438204-6 ประชาชนสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายในอาคารส่วนหนึ่งจัดแสดงเรื่องราวของการขุดค้นพบไดโนเสาร์ ที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง เพื่อเผยแพร่ผลงานของกรมทรัพยากรธรณีให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก กำเนิดหิน แร่ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และสิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และทางธรรมชาติของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ความรู้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจ

ที่มา http://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=7118&filename=index

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในบริเวณตอนล่างของจังหวัดอุดรธานี และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น สภาพธรณี เป็นภูเขาหินทรายซึ่งมีชั้นของของหินทรายอยู่ด้านบนระดับผิวดิน โดยมีชั้นของหินดินดาน หรือหินดินดานปนทรายเป็นฐานด้านล่าง มีดินประเภทดินลูกรังและดินร่วนปนทราย กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ และสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีเนื้อที่ประมาณ 322 ตารางกิโลเมตร หรือ 201,250 ไร่
          
            ลักษณะภูมิประเทศ
ภูเก้า มีสันฐานคล้ายกะทะหงายโดยมีที่ราบอยู่ตอนกลาง พื้นที่เช่นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ส่วนนี้น่าจะเป็นซากภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทไปแล้วหลายร้อยล้านปี หรือมิฉะนั้นก็เป็นการโก่งตัวของเปลือกโลกในบริเวณนี้ขึ้นมาเป็นขอบ เทือกเขา เทือกเขาภูเก้าเป็นเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชัน มาก ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันไม่มากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะ สูงๆ ต่ำ ๆ บางแห่งเป็นที่ราบ
ภูพานคำ เป็นแนวทิวเขายาวในเทือกเขาภูพาน เรียงตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขาเป็นแอ่งที่ราบต่ำลุ่มน้ำพอง ซึ่งเป็นหุบเขาขนาดใหญ่ เมื่อมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่ดังกล่าวนี้กลายเป็นทะเลสาป ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของส่วนภูพานคำ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นดินปนหิน
  
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูกาลของอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะร้อนจัดในเดือนเมษายน
ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนจะตกมากที่สุดในเดือนกันยายน
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงทางตอนใต้ของประเทศจีน










ที่มา http://www.dnp.go.th/khonkaen/nationalpark/phoogoak/phoo%20k1.html

ครม.ลงพื้นที่ดูงานโครงการสำคัญที่ขอนแก่น

ครม.ลงพื้นที่ดูงานโครงการสำคัญที่ขอนแก่น

ขอนแก่น/ นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.55 คณะรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมสัญจรที่จังหวัดอุดรธานีและมีรัฐมนตรีหลายคนก็จะลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยในจังหวัดขอนแก่นมีการประชุมเตรียมพร้อมต้อนรับรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาตรวจพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และติดตามโครงการที่ จ.ขอนแก่นจะนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุม ครม.ในครั้งนี้ โดยมีรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.กระทรวงคมนาคม, ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม นายภูมิ สาระผล รมช.กระทรวงพาณิชย์ และ นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.กระทรวงมหาดไทย

สำหรับโครงการที่จังหวัดขอนแก่นนำเสนอในครั้งนี้เป็นโครงการมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่และประชาชนในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไม่ว่าการแก้ปัญหาจราจร การแก้ไขปัญหาอุทกภัย โครงการพัฒนาให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสาธารณสุข โดยมีมูลค่าโครงการที่เสนอในวงเงินงบประมาณ 9,800 ล้านบาท

สำหรับจุดที่คณะรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ก็คือ โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเทศบาลนครขอนแก่น การสร้างจุดก่อสร้างทางต่างระดับ Fly Over บริเวณถนนมิตรภาพตัดกับถนนหลังศูนย์ราชการเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางถนนแคบและกระชั้นชิดเพื่อออกสู่ถนนมิตรภาพรวมทั้งตัดทางรถไฟด้วย ทำให้การจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น โครงการนี้เสนอของบประมาณ 86 ล้านบาท หากโครงการนี้สำเร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรเมืองขอนแก่นในภาวะเร่งด่วนได้พอสมควร จุดที่ 2 คือโครงการการก่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางและอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาสู่เมืองแห่งการบริการด้านสาธารณสุขในภูมิภาคและอนุภาคลุ่มน้ำโขง (Medical Hub) โครงการนี้เสนอของบประมาณ 2,400 ล้านบาท

หากโครงการนี้สำเร็จจะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยในประมาณ 5 หมื่นคนต่อปี และโครงการที่ 3 คณะรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำบ้านพระคือ ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น เป็นช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี ซึ่งหากสร้างเสร็จก็จะช่วยพื้นที่ไม่ให้ถูกน้ำท่วมประมาณ 20,000 ไร่ สำหรับโครงการนี้เสนอของบประมาณ 265 ล้านบาท

ที่มา http://www.banmuang.co.th/?p=40096

ททท.สำนักงานขอนแก่นจัดทำรายการนำเที่ยวตัวอย่างครึ่งวัน ต้อนรับ "ขอนแก่นเกมส์"

ททท.สำนักงานขอนแก่นจัดทำรายการนำเที่ยวตัวอย่างครึ่งวัน 5 เส้นทางเที่ยวเมืองขอนแก่น รับกีฬาแห่งชาติ “ขอนแก่นเกมส์”

นายนพรัตน์ กอกหวาน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายท่องเที่ยวการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 40 “ขอนแก่นเกมส์” เปิดเผยว่า ททท.สำนักงานขอนแก่น ร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายท่องเที่ยว ได้จัดทำข้อมูลเส้นทางทัวร์ตัวอย่างท่องเที่ยวเมืองขอนแก่นครึ่งวัน เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมงานขอนแก่นเกมส์ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-13 มีนาคม 2555 นี้

โดยนำเสนอเส้นทางแหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรมที่น่าสนใจ 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 : ไหว้พระธาตุ เยี่ยมหมู่บ้านงูจงอาง เส้นทางที่ 2 : ไหว้พระใหญ่ ชมวิวเขื่อน เยือนสวนสัตว์ เส้นทางที่ 3 : เยือนเส้นทางสายไหมเมืองขอนแก่น เส้นทางที่ 4 : ยลฮูปแต้ม สิมอีสาน เยี่ยมยามบ้านไดโนเสาร์ และ เส้นทางที่ 5 : อารยธรรมขอมที่ขอนแก่น

โดยรายการท่องเที่ยวตัวอย่างทั้ง 5 เส้นทางดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในระหว่างการร่วมงานขอนแก่นเกมส์ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มประสบการณ์การมาเยือนเมืองขอนแก่นของผู้ร่วมงานครั้งนี้ให้น่าประทับใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการนำเสนอคุณค่าของเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวเมืองขอนแก่นให้เป็นที่รู้จักและได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย

ผู้สนใจข้อมูลเส้นทางทัวร์ตัวอย่างทั้ง 5 เส้นทางดังกล่าว สามารถติดต่อขอรับเอกสารข้อมูลได้ที่ ททท.สำนักงานขอนแก่น โทร. 0-4324-4498-9 เปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. หรือสามารถติดตามข้อมูลทางเว็บไซต์ ททท. http://thai.tourismthailand.org/khon-kaen

ที่มา http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=202698&page=1658

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ขอนแก่นมุ่งสู่..เมืองมหานคร

ขอนแก่นมุ่งสู่..เมืองมหานคร
เมื่อไม่นานมานี้ หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการสนับสนุนของจังหวัดขอนแก่น จัดเสวนาเรื่อง ขอนแก่นมุ่งสู่.. เมืองมหานครที่ห้องศรีจันทร์ 2 โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น

โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีเปิดการเสวนา ร่วมด้วย นายภูมิ สาระผล รมช. พาณิชย์, นายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร ส.ส. ขอนแก่น เขต 1, นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น, นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผวจ.ขอนแก่น, นายพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น, รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายประยูร อังสนันท์ ประธานสภาโรงเรียน ฮั่วเคี้ยววิทยาลัย, นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ขอนแก่น, นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ ประธาน หอการค้าฯ

นอกจากนี้ ยังมีกรรมการกิตติมศักดิ์ และกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น, ผู้นำ 21 องค์กรจีน ผู้นำภาคเอกชน นักธุรกิจ และนักวิชาการคณะทำงาน ผู้ทรงคุณวุฒิหอการค้าฯ ร่วมเสวนาจำนวนประมาณ 300 คน โอกาสนี้ได้มีการมอบดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ ส.ส., ส.ว.ขอนแก่น ที่ได้รับตำแหน่งสำคัญ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2555 ที่ผ่านมา

>> บูมนิคมอุตสาหกรรมขอนแก่น
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาในงานเสวนา ขอนแก่นมุ่งสู่..เมืองมหานครว่า นับเป็นความร่วมมือที่ดีของภาคเอกชน ราชการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคการเมือง ท้องถิ่นของจังหวัดขอนแก่น ที่จะผลักดันจังหวัดให้เป็นเมืองมหานคร โดยมีการร่วมมือกันจัดทำแผนพัฒนาเมืองและการ แก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน เพื่อรองรับการ เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี ที่จะมาถึงในปี 2558 อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่ง ที่ยังขาดคือการขาดการประสานกับนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งตรงนี้หากจะทำงานแบบบูรณาการที่สมบูรณ์ จะต้องประสาน กับนักการเมืองในระดับชาติด้วย

ผมขอสนับสนุนการที่จะพัฒนา จังหวัดขอนแก่นให้ก้าวไปสู่การเป็นเมืองมหานคร ซึ่งการที่จะเป็นมหานครได้นั้น ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินนานาชาติ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา ไปสู่เมืองมหานคร แต่เนื่องจากจังหวัดขอนแก่นไม่ได้มีพื้นที่ติดกับทะเล การที่จะ มีท่าเรือได้ก็คือการที่เราจะต้องมีท่าเรือบนบก นั่นคือ ICD นั่นเอง และนิคมอุตสาหกรรม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความเจริญเติบโตให้แก่จังหวัดเป็นอย่างดี โดยหลังจากที่ได้มีน้ำท่วมในจังหวัดภาคกลาง บริษัทต่างๆ ก็เริ่มที่จะมีแนวคิดที่จะขยับขยายย้ายโรงงานของเขาเองมาอยู่ในภาค อีสาน ซึ่งหากจังหวัดของเราสามารถตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ ก็นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้จังหวัดมีการเจริญเติบโต โดยให้มีท่าเรือ บก หรือ ICD อันเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมตัดสินใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดขอนแก่นได้ และในด้านการพัฒนาสนามบิน ให้เป็นสนามบินนานาชาติ มีความจำเป็นสำหรับรองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ ถ้าเมืองเจริญเติบโตขึ้นสิ่งที่จะตาม มาแน่นอน คือระบบขนส่งมวลชนในจังหวัด และเราจะมีระบบรถบัส BRT ตนเห็นว่าเป็นการเริ่มต้นระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดที่ถูกต้อง โดยจะต้องปรับขยายระบบ ดังกล่าวให้เป็นรถไฟฟ้าในอนาคต

>> ยกระดับเป็น Logistic Hub
ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า จังหวัด ขอนแก่นมีศักยภาพเด่นทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์ กลางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางอากาศ การขนส่งผ่านระบบรางและการขนถ่ายสินค้าในภูมิภาคอาเซียน จึงมีศักยภาพสูง ที่จะพัฒนาให้เป็น Logistic Hub ในประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป แต่ในเวลาอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่จะต้องขยับ ขยายถนนหนทางโดยเพิ่มการเชื่อมต่อในโครงการที่จะมีการยกระดับ ด้วยการระบาย รถออกไปสู่ถนนมิตรภาพ จะช่วยลดความ แออัดของการคมนาคมในตัวเมืองได้ดี ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือปัญหาน้ำท่วมที่จำเป็น ต้องมีการบูรณาการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะ การที่น้ำท่วมครั้งหนึ่ง ทำความเสียหายให้ กับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย์กรรม ที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจมาลงทุน ของนักธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการย้ายฐานการ ผลิตจากภาคกลางที่มีความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติสูงมาสู่ภาคอีสานที่มีความเสียหายน้อยกว่า การป้องกันน้ำท่วมจึงถือเป็น พันธกิจเร่งด่วนอย่างหนึ่งที่พวกเราจะต้องเร่งผลักดันให้สัมฤทธิผลให้ได้โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ (ก.พ.) จะมี การประชุม ครม.สัญจร ขึ้นที่จังหวัดอุดร ธานี ทราบว่า ทางจังหวัดขอนแก่นโดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อ แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และสภา พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เตรียมที่จะยื่นของบประมาณโครงการต่างๆ กับโครงการที่จะยื่นต่อ ครม.สัญจร ที่ได้ยื่นผ่านมาที่ตนและ ส.ส., ส.ว. ขอนแก่นทุกท่าน ตนจะรับไปพิจารณาในรายละเอียด และจะช่วยผลักดันโครงการ ต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่นให้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต่อไป

>> จัดระเบียบจราจรแก้รถติด
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดขอนแก่น รอง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตรง กลางของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ และตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ ขอนแก่นยัง เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ศูนย์กลางทางการแพทย์ ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ซึ่งทำให้ขอนแก่นมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองมหานครได้ไม่ยาก โดยขณะนี้ขอนแก่นมีโครงการที่จะจัดระเบียบกับการ จราจรที่ติดขัด โดยจะทำทางยกระดับบริเวณถนนหลังศูนย์ราชการไปยังถนนมิตรภาพเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะทำโครงการ รถบีอาร์ที สายบ้านสำราญมหา วิทยาลัยขอนแก่น-ท่าพระ เพื่อรองรับจำนวนคนที่ย้ายเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ทำการศึกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการดำเนิน การก่อสร้างเท่านั้น ส่วนที่ขอนแก่นจะต้องพัฒนาเพิ่มเติมคือ การทำสนามบินนานาชาติ และการทำท่าเรือบก เพื่อรองรับ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งหากตรงนี้สำเร็จ จะทำให้ลดต้นทุนในการขนส่ง ได้มาก ส่วนด้านปัญหาน้ำท่วม ทางจังหวัด และเทศบาลมีแผนรองรับเรียบร้อยแล้ว การทำงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันทุก ภาคส่วน ซึ่งแสดงถึงการรวมพลังและความสามัคคีกันในการทำงาน

>> ขึ้นชั้นศูนย์กลางการแพทย์
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ ประธาน หอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การก้าวสู่เมืองมหานครและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่เราร่วมกันทำได้เชื่อมโยงกันหมด จังหวัด ขอนแก่นได้ประกาศเป็นศูนย์กลางทางการ แพทย์ที่เป็นเลิศของประเทศอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง ขอนแก่นประกาศเป็นศูนย์ กลางทางด้านการคมนาคมและขนส่งลอจิสติกส์ฮับ ซึ่งจังหวัดขอนแก่นได้เตรียมการยุทธศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้เอาไว้มาก มาย และทุกอย่างจะต้องเดินเคียงคู่และควบคู่กันไปถึงจะก้าวสู่ความเป็นเมืองมหานครได้
ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์การขนส่ง ลอจิสติกส์ จังหวัดขอนแก่น (Bus System International Airport Rail Road Distribution Center Sustainability) หรือ ตัวย่อคือ BIRDs นั้น เป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง ที่คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์ กลางด้านการขนส่งการคมนาคมของภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการเตรียม ความพร้อมรองรับการเปิดประตูสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เนื่องจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่นนั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่สำคัญคือ อยู่บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West-Economic Corridor) ที่จะ มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นบนระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้

ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของจังหวัด ขอนแก่นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดย GDP ของจังหวัดเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง และเป็นอันดับ 2 รองจากจังหวัด นครราชสีมา และมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจที่จะลงทุนในจังหวัดขอนแก่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนนับพันล้านบาท นอกจากนี้ นับตั้งแต่ไทยกับ สปป.ลาว ขยายเส้นทางการสัญจรของประชาชนทั้งสองประเทศมาถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในขณะนี้ มีประชาชน สปป.ลาว เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย และพักแรมในจังหวัดขอนแก่นเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งจังหวัดขอนแก่นสามารถเดินทาง ไปยังจังหวัดต่างๆ ได้รอบทิศ และสามารถ เป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและบริการ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

สู่ฝันขอนแก่นเมืองมหานคร
ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่งและบริการอย่างแท้จริง คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น จึงได้จัดทำ แผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องขึ้นมารองรับ ยุทธศาสตร์การขนส่งลอจิสติกส์ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) พร้อมทั้งได้จัดเสวนาในหัวข้อ ขอนแก่นมุ่งสู่...เมืองมหานครเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับทราบทั่วกัน และจะ ได้ร่วมกันผลักดันแผนงาน/โครงการที่คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่นทุกคนได้ร่วมกันสละแรงกาย กำลังความคิด เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้ก้าวย่างไปสู่เมืองมหานคร ในอนาคต ให้สมกับคำขวัญขององค์กรหอการค้าที่ว่า ส่งเสริมการค้า พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าชีวิต คือภารกิจหอการค้า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัด ขอนแก่น จะทำพิธีมอบหนังสือเปิดผนึก ต่อประธานรัฐสภา ในฐานะสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอการ สนับสนุนผลักดันแผนงาน/โครงการที่ได้จัดทำขึ้น เสนอผ่านทางประธานรัฐสภาไป ยังรัฐบาลพิจารณาสนับสนุนต่อไป


ที่มา http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=202698&page=1650 

โครงการรถเมล์ด่วนในอนาคต



สีแดง >>>> สำนักงานทางหลวงชนบท > สำราญ > ดูโฮม > โลตัสเอ็กซ์ตร้า > ประตูศาลเจ้าพ่อมอดินแดง (มข.) > complex (มข.) > โรงพยาบาลศรีนครินทร์ > โตโยต้าขอนแก่น > ไทยสมุทร > แยกสามเหลี่ยม (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า เหลือง ชมพู) > ประตูเมือง (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า เหลือง ชมพู) > แยก ม. ภาค > เจริญศรี (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว) > โลตัสเมืองเก่า > บขส. 3 > กุดกว้าง > ท่าพระ

สีฟ้า >>>> สี่แยก ร.8 (เชื่อมต่อกับสายสีเหลือง) > บ้านหัวทุ่ง > บึงหนองโคตร > บุศรินทร์ > บ้านศรีฐาน > ประตูเมือง (เชื่อมต่อกับสายสีแดง เหลือง ชมพู) > สีแยกสามเหลี่ยม (เชื่อมต่อกับสายสีแดง เหลือง ชมพู) > บขส. (เชื่อมต่อกับสายสีชมพู) > อนุบาลขอนแก่น (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว) > อาชีวะ > ซอยเรือนจำ > ชาตะผดุง > บัณฑิตเอเชีย > มิตรสัมพันธ์ > หนองใหญ่ (เชื่อมต่อกับสายสีเหลือง)

สีเหลือง >>>> บ้านทุ่ม > หมู่บ้านเดชา > ท่าอากาศยานขอนแก่น > สี่แยก ร. 8 (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า) > XXX (ปั๊ม ปตท.) > ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก > เซนโทซ่า เดอะมาร์เก็ต > สี่แยกสามเหลี่ยม (เชื่อมต่อกับสายสีแดง ฟ้า ชมพู) > ประตูเมือง (เชื่อมต่อกับสายสีแดง ฟ้า ชมพู) > ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เชื่อมต่อกับสายสีชมพู) > แบงค์ชาติ (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว ชมพู) > XXX (วัดศรีจันทร์) > เรือนจำ > รพ. ขอนแก่น > ม. ราชมงคล > หนองใหญ่ (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า) > วัดป่าแสงอรณ > ดอนดู่

สีเขียว >>>> ศิลา > ขามแก่นนคร > ค่ายศรีพัชรินทร์ > XXX (สามแยกภูมิสิทธิ์) > ซอยจอมพล > หลังศูนย์ราชการ > ศาลากลาง > อนุบาลขอนแก่น (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า ชมพู) > สถานีปรับอากาศ (เชื่อมต่อกับสายสีชมพู) > แบงค์ชาติ (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว เหลือง) > กัลยาณวัตร (เชื่อมต่อกับสายสีชมพู) > สวนสนุก (เชื่อมต่อกับสายสีชมพู) > ธนาคารกรุงเทพหน้าเมือง > สนามกีฬากลาง > แก่นนคร > เจริญศรี (เชื่อมต่อกับสายสีแดง) > ไฟฟ้าย่อย > โรงอวน > ขามเจริญ > หนองขาม > น้ำต้อน

สีชมพู >>>> แยกสามเหลี่ยม (เชื่อมต่อกับสายสีแดง ฟ้า เหลือง) > ประตูเมือง (เชื่อมต่อกับสายสีแดง ฟ้า เหลือง) > ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เชื่อมต่อกับสายสีเหลือง) > สถานีรถไฟ > รื่นรมย์ > แฟรี่พลาซ่ากลางเมือง > สวนสนุก (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว) > กัลยาณวัตร (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว) > แบงค์ชาติ (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว เหลือง) > สถานีปรับอากาศ (เชื่อมต่อกับสายสีเขียว) > อนุบาลขอนแก่น (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า เขียว) > บขส. (เชื่อมต่อกับสายสีฟ้า) > แยกสามเหลี่ยม (เชื่อมต่อกับสายสีแดง ฟ้า เหลือง)


ที่มา http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=202698&page=1651