วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ขอนแก่นเดินหน้า ตั้งนิคมอุตฯสีเขียว

ขอนแก่นเดินหน้า ตั้งนิคมอุตฯสีเขียว
ยื่น ครม.สัญจร ขอ50ล.ทำพิมพ์เขียว

ขอนแก่น ดันตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวเข้า ครม.สัญจร อุดรธานี ของบศึกษาและทำพิมพ์เขียว 50 ล้านบาท มั่นใจขอนแก่นมีโอกาสเกิดกว่า 70% แม้มีคู่แข่งหลายจังหวัด อ้อน อปท.ช่วยหาพื้นที่เหมาะสม

นายวิทูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะคณะกรรมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว กล่าวว่า หลังจากที่จังหวัดขอนแก่นได้มีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้น และได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน เพื่อศึกษาความเหมาะสมเรื่องพื้นที่และสถานที่ก่อสร้าง พร้อมแนวทางดำเนินการ และการทำประชาพิจารณ์กับมวลชนในพื้นที่ที่จะก่อสร้างว่ามีความเห็นอย่างไร

ความคืบหน้าของการดำเนินการในการจัดตั้งอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 55 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะทำงาน ซึ่งได้มีผลสรุปพื้นที่ที่สามารถตั้งอุตสาหกรรมสีเขียวได้ออกมาอยู่ในโซน 2 ทิศ โดยยึดจากตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นเป็นหลัก

นายวิทูรย์ กล่าวต่อว่า คณะทำงานได้ข้อสรุปเบื้องต้น จะเลือกใช้พื้นที่โซนด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ จากตัวอำเภอเมืองขอนแก่นเท่านั้น เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยด้านทิศตะวันตกตั้งแต่อำเภอเมืองไปตามถนนหลวงหมายเลข 12 ไปจนถึงอำเภอภูเวียง มีความเหมาะสม เพราะเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC และจะมีการขยายเส้นทางเป็น 4 เลนไปจนถึง อ.แม่สอด จ.ตาก

ส่วนด้านทิศใต้ ตามเส้นทางมิตรภาพฝั่งซ้าย ตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอบ้านแฮด ลงไปจนถึงอำเภอบ้านไผ่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งมีความเหมาะสมด้านการคมนาคมขนส่ง เป็นถนนสายหลักมุ่งสู่พื้นที่ภาคกลาง ในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ มีคอนเทนเนอร์ ยาร์ด หรือคลังเก็บสินค้าทางรถไฟ ที่ ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น ส่วนพื้นที่ด้านฝั่งขวานั้นจะเป็นพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมประจำเพราะติดริมแม่น้ำชี

สาเหตุที่ไม่เลือกพื้นที่โซนทิศเหนือ ด้านอำเภอน้ำพอง อำเภอกระนวน เพราะเคยมีการผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเกิดปัญหามวลชนในพื้นที่ต่อต้านมาก ขณะที่โซนด้านทิศตะวันออกของอำเภอเมืองขอนแก่น มีพื้นที่จำกัดออกไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ก็จะเข้าเขตจังหวัดมหาสารคาม จึงเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม

นายวิทูรย์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้จึงอยากให้ทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นพิจารณาพื้นที่ของตนเองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยพื้นที่นี้ต้องมีตั้งแต่ 1500-2000 ไร่ขึ้นไป ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้ในผลิตผลเกษตรออกมาได้น้อย หรือแทบไม่ได้ รวมถึงต้องเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ใกล้ทางคมนาคม และไม่ใกล้พื้นที่ทางการเกษตรที่สำคัญหรือให้ผลผลิตสูง โดยตอนนี้ก็ได้มี อบต.มานำเสนอพื้นที่แล้ว แต่พื้นที่น้อยกว่าที่กำหนด และไม่สามารถขยายพื้นที่ต่อได้

พื้นที่ผืนใหญ่ที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องพื้นที่ของรัฐ สามารถจัดซื้อพื้นที่เอกชนผืนใหญ่ได้ เพราะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับนักลงทุนที่สนใจ

นายวิทูรย์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญอยากจะประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบว่า คณะกรรมการฯยังไม่ได้มีการชี้เฉพาะจุดลงไป จึงไม่อยากจะให้ประชาชนหลงเชื่อนายหน้าค้าที่ดิน เพราะจะเป็นการปั่นราคาที่ดินในพื้นที่นั้นๆ ได้ และตอนนี้คณะกรรมการได้เตรียมเสนอแผนดังกล่าวนี้ให้กับทางจังหวัด เพื่อนำไปเสนอโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในจังหวัดขอนแก่น กับ ครม.สัญจร ที่ จ.อุดรธานี ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะมีตัวแทนจาก 12 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี, หนองคาย, หนองบัวลำภู, เลย, บึงกาฬ, สกลนคร, นครพนม, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น และมุกดาหาร มาร่วมประชุม

โดยจะของบประมาณประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อนำมาศึกษาทุกอย่าง และทำพิมพ์เขียวให้กับทางรัฐบาล รวมถึงขอให้ครม.อนุมัติให้ขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากตอนนี้ทางภาคอีสานได้มีการเสนอตัวในการที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมหลายจังหวัด โดยทุกจังหวัดก็จะนำเข้าเสนอ ครม.สัญจรตรงนี้เหมือนกันหมด แต่ขอนแก่นของเราได้เดินเรื่องนี้มานาน และมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ผมคาดว่าการที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้นในจังหวัดขอนแก่นตอนนี้มีความเป็นไปได้ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว และหลังจากที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางที่ จ.อยุธยานั้น ผู้ประกอบการมี 2 ประเภท คือ ต้องการที่จะย้ายฐานการผลิต กับย้ายฐานการผลิตไปแล้ว โดยส่วนที่กำลังตัดสินใจได้เบนเข็มมาที่ภาคอีสาน มีจำนวนสูงมาก ขณะเดียวกันจังหวัดขอนแก่น ถูกเลือกจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งในสี่จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ขอนแก่น กาญจนบุรี เชียงราย และ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เหมาะต่อการตั้งนิคมอุตสาหกรรมนายวิทูรย์ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคอีสาน ณ ขณะนี้มี 4 จังหวัดที่มีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้น ประกอบด้วย ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม และนครราชสีมา โดยแผนการดำเนินการผลักดันของจังหวัดขอนแก่น มีความคืบหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน ซึ่งมั่นใจว่า นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคอีสาน น่าจะเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1 จังหวัด

นายวิทูรย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของพลังงานไฟฟ้า การคมนาคม และแผนรองรับน้ำท่วม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นหากมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น คาดว่าภายใน 1 ปี จะมีผู้ประกอบการเข้ามาเต็มพื้นที่อย่างแน่นอน


ที่มา http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=202698&page=1653

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น